MooC คืออะไรและแตกต่างกับ E-Learning อย่างไร

MOOC คืออะไร

mooc_poster_mathplourde

ที่มา : https://sipaedumarket.files.wordpress.com

การศึกษาแนวทางในการนำเทคโนโลยี MOOC มาใช้สำหรับจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อนอื่นเราจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ MOOC ก่อนนะครับว่ามันคืออะไรและ MOOC ดีกว่าระบบจัดการเรียนการสอนแบบ e-Learning ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู้ในปัจจุบันอย่างไร

             MOOC  คือ ระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์ขนาดใหญ่ มีความสามารถด้านต่างๆและมีประสิทธิภาพเหนือกว่าระบบจัดการเรียนการสอนe-Learning ที่มีอยู่ในปัจจุบัน MOOC ย่อมาจาคำว่า Massive Open Online Course

Massive  หมายถึง ขนาดใหญ่
Open        หมายถึง ฟรี
Online     หมายถึง การสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
Course   หมายถึง วิชาหรือหลักสูตร

เมื่อนำมาแปลความหมายตรงๆจะได้ว่า “การเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเมอร์เน็ตฟรีขนาดใหญ่” หากแปลกตามนี้คงงงกันใหญ่แม้กระทั่งผู้เขียนเองจึงมีผู้นำมาร้อยเรียงใหม่ให้มีความสะละสะลวยขึ้นได้ดังนี้

MOOC หมายถึงรูปแบบการนำเสนอการเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ทางออนไลน์ ที่เข้าถึงผู้เรียนจำนวนมากๆ ได้ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ โดยส่วนใหญ่เป็นการให้บริการฟรี

MOOC แตกต่างจาก e-Learning ในปัจจุบันอย่างไร

๑  MOOC สามารถรองรับจำนวนรายวิชาได้จำนวนมากเป็นล้านๆรายวิชา

๒  MOOC สามารถรองรับผู้เข้าเรียนในรายวิชาได้พร้อมกันจำนวนมากๆ มากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนขึ้นไป โดยที่ไม่มีผลกระทบกับคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่ให้บริการ

๓  MOOC เป็นระบบการบริการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

๔  MOOC สามารถสร้างแบบจำลองการจัดการเรียนการสอนแบบเผชิญหน้าได้เป็นอย่างดีที่เรียกว่าห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom)

๕  MOOC เป็นระบบการเรียนการสอนในรูปแบบ Open Course ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้าไปเรียนได้ฟรีจากมหาวิทยาลัยผู้ให้บริการ

๖  MOOC สนับสนุนการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางคือเสรีภาพ (freedom) นักเรียนมีสิทธิ์เลือกวิชาที่อยากเรียนได้ตามใจชอบ เรียนไวเท่าที่ ตัวเองต้องการ

๗  MOOC สามารถจัดการเรียนได้สอนในเชิงธุรกิจได้หลายแบบ ได้แก่ ผู้เรียนต้องจ่ายเงินก่อนเข้าเรียน หรือ ผู้เรียนเรียนจบก่อนค่อยจ่ายเงินเพื่อรับใบรับรอง หรือผู้เรียนต้องจ่ายเงินเรียนเพื่อขอนำผลการเรียนไปเทียบโอนในมหาวิทยาลัย

๘  MOOC มีความเหมาะสมในการจัดการเรียนการสอนในยุคศตวรรษที่ ๒๑  คือ มีการสร้างระบบส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น คือมีการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้อาจารย์สามารถเก็บข้อมูลของนักศึกษาได้ง่ายขึ้น เช่น อาจารย์สามารถเข้าดูสถิติในการเข้าดูวิดีโอ Lecture อันใดซ้ำมากเป็นพิเศษ หรือนักศึกษาใช้เวลาทำแบบฝึกหัดใดนานมากเป็นพิเศษผู้สอนสามารถตอบกลับได้เลย ซึ่งแก้ข้อบกพร่องในการเรียนแบบการเรียนผ่านทางไกลแบบเดิมๆ

๙  MOOC สามารถแสดงผลได้เป็นอย่างดีกับอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดทั้งคอมพิวเตอร์, พีซี, สมาร์ทโฟน, และแท๊บแล็ต

ที่มา : . (2557).  เทคโนโลยี MOOC คืออะไรและแตกต่างกับระบบ e-Learning ในปัจจุบันอย่างไร ?.  สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม, 2559,  จาก http://blogs.msu.ac.th

Learning Project Bicycle Model

การเรียนรู้อย่างมีพลัง

Learning Project Bicycle Model

21st_century_trilling1.jpg

ที่มา : https://atruenorthmsteacherblog.files.wordpress.com

เครื่องมือของการเรียนรู้อย่างมีพลังคือ “จักรยานแห่งการเรียนรู้”

มีวงล้อประกอบด้วย ๔ ส่วนคือ Define, Plan, Do และ Review  

วงล้อมี ๒ วง  วงหนึ่งเป้นของนักเรียน อีกวงหนึ่งเป็นของครู 

หลักสำคัญคือนักเรียนกับครูต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน อย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกัน

“จักรยาน” นี้ คือโมเดลการเรียนรู้แบบ PBL นั่นเอง   โดยจะมีชิ้นส่วนอื่นๆ มาประกอบเข้าเป็น “จักรยานแห่งการเรียนรู้แบบ PBL”  และจะต้องมี “พื้นถนน” ที่มี “ความลาดเอียง” เป็นส่วนประกอบของการเรียนรู้

หากจะให้การเรียนรู้มีพลัง จดจำไปจนวันตาย ต้องเรียนโดยการทำ project   เป็นการเรียนโดยลงมือทำ  ร่วมมือกันทำเป็นทีม  ในปัญหาที่อยู่ในชีวิตจริง

ในแต่ละชิ้นส่วน (Define, Plan, Do, Review) ของวงล้อ   มีการเรียนรู้เล็กๆ อยู่เต็มไปหมด หากครูโค้ชดี   การเรียนรู้เหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีพลัง   แต่ตรงกันข้าม หากครูโค้ชไม่เป็น การเรียนรู้ก็จะตื้น ไม่เชื่อมโยง ไม่สนุก ไม่มีพลัง   แต่เราต้องไม่ลืมว่า การเรียนแบบนี้เป็นของใหม่ ไม่มีครูคนไหนโค้ชเป็น   จึงต้องทำไปเรียนรู้ไป   รวมทั้งมี “เครือข่ายเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์” เป็นตัวช่วยการ ลปรร. วิธีโค้ช

             Define คือขั้นตอนการทำให้โครงการมีความชัดเจนร่วมกันในสมาชิกของทีมงาน ร่วมกับครูด้วย  ว่าคำถาม ปัญหา ประเด็น ความท้าทาย ของโครงการ คืออะไร   เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อะไร

ในทุกขั้นตอนที่เป็นชิ้นส่วนของวงล้อ สมาชิกของทีมจะระดมความคิด ถกเถียง โต้แย้ง กันอย่างกว้างขวางจริงจัง โดยมีข้อมูลสารสนเทศที่ค้นคว้ามายืนยันและมาทำความเข้าใจร่วมกัน   เพื่อให้ในที่สุดบรรลุข้อตกลงกันได้ว่าจะดำเนินการหรือลงมือทำอย่างไร   เพื่อให้บรรลุผลตามเงื่อนไขข้อจำกัดของทรัพยากร ซึ่งรวมทั้งเวลา

ครูเพื่อศิษย์ ผู้ทำหน้าที่โค้ช จะคอยให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ จุดประกาย เพื่อสร้างความพอเหมาะพอสมของโครงการ ไม่มีเป้าหมายที่ยากเกินกำลัง และไม่ง่ายเกินไปจนไม่เกิดการเรียนรู้จริงจัง

             Plan คือการวางแผนการทำงานในโครงการ   ครูก็ต้องวางแผน กำหนดทางหนีทีไล่ในการทำหน้าที่โค้ช   รวมทั้งเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกในการทำโครงการของนักเรียน   และที่สำคัญ เตรียมคำถามไว้ถามทีมงานเพื่อกระตุ้นให้คิดถึงประเด็นสำคัญบางประเด็นที่นักเรียนมองข้าม   โดยถือหลักว่าครูต้องไม่เข้าไปช่วยเหลือจนทีมงานขาดโอกาสคิดเองแก้ปัญหาเอง   นักเรียนที่เป็นทีมงาน ก็ต้องวางแผนงานของตน แบ่งหน้าที่กัน รับผิดชอบ การประชุมพบปะระหว่างทีมงาน การแลกเปลี่ยนข้อค้นพบ  แลกเปลี่ยนคำถาม  แลกเปลี่ยนวิธีการ   ยิ่งทำความเข้าใจร่วมกันไว้ชัดเจนเพียงใด งานในขั้น Do ก็จะสะดวกเลื่อนไหลดีเพียงนั้น

             Do คือการลงมือทำ จะพบปัญหาที่ไม่คาดคิดเสมอ  นักเรียนจึงจะได้เรียนรู้ทักษะในการแก้ปัญหา การประสานงาน การทำงานร่วมกันเป็นทีม การจัดการความขัดแย้ง ทักษะในการทำงานภายใต้ทรัพยากรจำกัด  ทักษะในการค้นหาความรู้เพิ่มเติม  ทักษะในการทำงานในสภาพที่ทีมงานมีความแตกต่างหลากหลาย  ทักษะการทำงานในสภาพกดดัน  ทักษะในการบันทึกผลงาน  ทักษะในการวิเคราะห์ผล และแลกเปลี่ยนข้อวิเคราะห์กับเพื่อนร่วมทีม เป็นต้น

ในขั้นตอน Do นี้ ครูเพื่อศิษย์จะได้มีโอกาสสังเกตทำความรู้จักและเข้าใจศิษย์เป็นรายคน และเรียนรู้หรือฝึกทำหน้าที่เป็น “วาทยากร” และโค้ช

                Review เป็นช่วงที่เกิดการเรียนรู้มาก คือ ทั้งทีมนักเรียนจะทบทวนการเรียนรู้   ที่ไม่ใช่แค่ทบทวนว่าโครงการได้ผลตามความมุ่งหมายหรือไม่   แต่จะต้องเน้นทบทวนว่างานหรือกิจกรรม หรือพฤติกรรม แต่ละขั้นตอนได้ให้บทเรียนอะไรบ้าง   เอาทั้งขั้นตอนที่เป็นความสำเร็จและความล้มเหลวมาทำความเข้าใจ และกำหนดวิธีทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม   รวมทั้งเอาเหตุการณ์ระทึกใจ หรือเหตุการณ์ที่ภาคภูมิใจ ประทับใจ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   ขั้นตอนนี้เป็นการเรียนรู้แบบ reflection  หรือในภาษา KM เรียกว่า AAR (After Action Review)

ครูเพื่อศิษย์ต้องฝึกฝนตนเองให้เป็น AAR facilitator ที่เก่ง ทำให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้มาก  และทำให้ศิษย์เชื่อมโยงทักษะการลงมือทำเข้ากับความรู้เชิงทฤษฎีได้   คือให้ศิษย์ได้เรียนรู้ทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีนั่นเอง

ที่จริงมีขั้นตอนที่ ๕ คือการนำเสนอ (Presentation) โครงการต่อชั้นเรียน  เป็นขั้นตอนที่ให้การเรียนรู้ทักษะอีกชุดหนึ่ง ต่อเนื่องกับขั้นตอน Review   เป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดการทบทวนขั้นตอนของงาน และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น   เอามานำเสนอในรูปแบบที่เร้าใจ ให้อารมณ์ และให้ความรู้ (ปัญญา)  ทีมงานของนักเรียนอาจสร้างนวัตกรรมในการนำเสนอก็ได้   โดยอาจเขียนเป็นรายงาน และนำเสนอเป็นการรายงานหน้าชั้นโดยมี PowerPoint ประกอบ  หรือจัดทำวีดิทัศน์นำเสนอ   หรือนำเสนอเป็นละคร เป็นต้น

หากให้น้ำหนักงาน Define, Plan, Do, Review รวมกันเท่ากับ 100  คะแนนน้ำหนักปริมาณงานของแต่ละส่วนจะไม่เท่ากัน   น้ำหนักส่วนใหญ่จะอยู่ที่ Do ทั้งนักเรียนและครู

จักรยานแห่งการเรียนรู้ไม่ได้มีเฉพาะล้อ ๒ ล้อ   ต้องมีโครงรถและที่นั่งสำหรับถีบจำนวนเท่ากับทีมงานและครูอีก ๑ คน  เป็นเครื่องบอกว่าต้องร่วมกัน “ถีบจักรยาน” (ทำงาน)   และต้องมีมือจับเป็นเครื่องมือให้จักรยานไปตรงทาง   มือจับข้างหนึ่งคือคำถาม (Questions)  อีกข้างหนึ่งคือปัญหา (Problems)

จักรยานแห่งการเรียนรู้มีห้ามล้อเป็นตัวจัดการความเร็วและเวลาของการเรียนรู้   และมีกระดิ่งเป็นสัญญาณเตือนบอกการประเมินผลของโครงการ และของการเรียนรู้

จักรยานแห่งการเรียนรู้จะไปสู่เป้าหมาย 21st Century Skills ได้ดี ต้องมีพื้นถนนที่ปูแน่นไปด้วยความร่วมมือของทีมงาน   และมีพื้นที่ลาดเอียงพอเหมาะ   พื้นที่ชันเกินไปเปรียบเสมือนคำถามและปัญหาที่ยากเกินไป เด็กเรียนอย่างมีความทุกข์   พื้นที่ลาดเกินไป เปรียบเสมือนคำถามและปัญหาที่ง่ายเกินไป ไม่ท้าทาย และไม่ได้ความรู้เพิ่ม

ที่มา : การเรียนรู้อย่างมีพลัง “จักรยานแห่งการเรียนรู้”. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม, 2559,  จาก https://doodee01loveyou.wordpress.com/

ใส่ความเห็น